วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

Cloverfield ( ꒪Д꒪)ノ


Goodbye Manhattan

ลาก่อนแมนฮัทตัน!



     ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้มีภาพยนตร์เรื่อง 10 Cloverfield Lane ซึ่งเป็นภาพยนตร์ภาคแยกของ Cloverfield หรือในชื่อภาษาไทย วันวิบัติอสูรกายถล่มโลกเข้าฉาย ซึ่งเสียงตอบรับก็หลากหลายเสียเหลือเกิน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีชื่อ เจ.เจ. อัมบราส์ เป็นโปรดิวเซอร์ อำนวยการสร้างเรื่องนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นชื่อการันตีเรื่องของคุณภาพของหนังไว้ส่วนหนึ่งเลยก็ว่าได้

     สำหรับเอ็นทรี่นี้ ขอกล่าวถึงภาพยนตร์อย่าง Cloverfield ของปี 2008 เพราะเนื่องจากเพิ่งดูจบก่อนหน้าที่จะเขียนไม่กี่ชั่วโมงนี้เอง โดย Cloverfield ถือว่าเป็นภาพยนตร์แนว Hand-Held Camera ซึ่งภาพยนตร์แนวนี้ก็ได้ทำออกมาหลากหลายเรื่อง ยกตัวอย่างภาพยนตร์ที่พอจะติดหูคนทั่วไปก็คงมี Paranormal Activities, REC, The Blair Witch Project ซึ่งเชื่อได้เลยว่า หลายคนคงไม่ชอบดูภาพยนตร์แนวนี้กันซักเท่าไหร่ เพราะนอกจากจะรู้สึกเวียนหัวกับกล้องที่ต้องโยกไปมาตลอด ลามไปถึงบางทีต้องหลับตาดูหนัง จนบางครั้งก็ทำให้ดูหนังไม่รู้เรื่องอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเนื้อเรื่องมันน่าสนใจ ยังไงๆ เราก็จะดู! (จริง ๆ เข็ดตั้งแต่ The Blair Witch Project แล้ว เรื่องนี้ทำเอาตึ๊บเลยก็ว่าได้)

     เข้าเรื่อง Cloverfield กันเลยดีกว่า ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นการเล่าถึงชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า 'ร๊อบ' เขาได้งานที่ญี่ปุ่น ดังนั้นแล้วน้องสาว และเพื่อนๆ ของเขาจึงตั้งใจที่จะจัดปาร์ตี้เพื่อฉลองให้เขา แต่แล้วเหตุการณ์ไปคาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่ออยู่ๆ ก็เกิดแผ่นดินไหว ทุกอย่างดูสับสน และอลหม่านไปหมด เมืองแมนฮัทตันที่พวกเขาอยู่อาศัย ค่อยๆ สูญสภาพ ทั้งตึกถล่ม สะพานขาด รวมไปถึงการสัตว์ประหลาดที่ทำเอาทุกคนในเหตุการณ์ช๊อคกันไปตามๆ กัน และนอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เล่าเพียงแค่การพังทลายของแมนฮัทตัน และสัตว์ประหลาด แต่ยังเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างร๊อบกับอดีตคู่เดทของเขา ซึ่งชวนให้น่าติดตามมากยิ่งขึ้น
     สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วถือว่าสนุกใช้ได้เลยทีเดียว แต่ถ้าให้ดูแบบจริงๆ จังๆ ก็คิดว่ามีจุดบอดสำหรับหนังประเภท Hand held อยู่ในเรื่องนี้อยู่หลายจุดอยู่เช่นกัน อย่างความไม่สมเหตุสมผลในสถานการณ์ของตอนถ่าย/ตอนวางกล้อง และอื่นๆ แต่ยังไงก็พยายามมองข้ามๆ มันไป เพราะจะรู้สึกไม่สนุกเวลาดูเสียเปล่าๆ


     อย่างแรกสำหรับเรื่องนี้ ชอบตรงที่ว่า พอดูจบหลายๆ อย่างยังคงปริศนาทิ้งไว้ให้คิดต่อ ไม่เฉลยอะไรเลย คล้ายกับเรากำลังดูเทปบันทึกสถานการณ์หนึ่ง แล้วก็ต้องหาคำตอบกันต่อไป (จริงๆ ชวนให้น่าติดตามดูต่อในภาคสองเสียมากกว่า)

     อย่างที่สอง ชอบสัตว์ประหลาดในเรื่องนี้ และฉากแมนฮัทตันตึกถล่ม สะพานทลาย ฟาดฟันกันตูมตาม แม้จะรำคาญเสียงคนตะโกนใส่กันก็ตาม แต่ถือว่าได้อรรถรสไปอีกแบบ

     อย่างที่สาม ประทับใจตอนจบ เชื่อว่าหลายคนคงเกลียดการจบแบบปลายเปิดแบบนี้ แต่สำหรับตัวเราเองนั้นชอบ เพราะอย่างที่บอกไว้ในข้อแรก มันเป็นปริศนาทิ้งเอาไว้ให้คิดต่อว่าสรุปรอดหรือไม่ แล้วแมนฮัทตันจะเป็นเช่นไร สัตว์ประหลาดตายแล้วหรือยังอยู่ นั่นคือสิ่งที่คิดว่าเป็นความแนบเนียนในเรื่องตัวบทในหนังประเภท hand held อีกอย่าง เพราะอะไร? ก็เพราะว่า Cloverfield เป็นกลายเล่าเรื่องผ่านคนในสถานการณ์นั้น ตัวละครดำเนินเรื่องไม่รู้ คนดูอย่างเราก็ไม่รู้เช่นกัน และนั่นก็ถือว่าเป็นเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้เลยก็ว่าได้


     โดยสรุปแล้ว ถือว่าภาพยนตร์อย่าง Cloverfield เป็นหนังประเภท Hand-Held อีกเรื่องที่ดูแล้วรู้สึก ประทับใจส่วนหนึ่ง ถ้าตัดความเวียนเศียรจากเรื่องการส่ายไปส่ายมาของกล้องนะ และอีกเรื่องอย่างที่บอก ถ้าไม่จับผิดเรื่องรายระเอียดยิบย่อยของสถานการณ์ คิดว่าเรื่องนี้เป็นหนังที่สนุกมากเลยทีเดียว ดังนั้น แนะนำให้ดูค่ะ แต่ถ้าใครไม่ชอบแนวนี้ก็แนะนำให้ดูเช่นกัน เผื่อจะเปลี่ยนใจ ฮ่า!





วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

Captain America: Civil War ♡



"เพราะความแค้นกัดกินจิตใจนาย ความแค้นกัดกินอเวนเจอร์
แต่ข้าจะต้องหยุดความแค้นไม่ให้กัดกินใจข้า"
                                                                               by Black Panther
                                                                               from Captain America: Civil War (2016)



     กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้งกับหนังซุปเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวล ต้องบอกก่อนเลยว่าไม่ผิดหวังกับซีวิลวอร์ ถือว่ามีความดีในระดับที่สมเหตุสมผล ดีงามตามเนื้อผ้า และดีงามตามมาตรฐานของหนังมาร์เวล ถ้าให้พูดแบบง่ายๆคือมันเป็นหนังที่ต้องเข้าแท่นแนะนำให้ดู และมันก็คุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสีย ถือว่าเป็นหนังฟอร์มยักษ์แห่งปีที่โปรโมตแบบข้ามปีแต่ไม่เหลาะแหละก็ว่าได้ ซึ่งขอชื่นชมไว้ตรงนี้เลยล่ะกัน (ปรบมือ)


     หลายๆคนก็คงจะรู้เรื่องย่อๆของซีวิลวอร์อยู่แล้ว ตรงนี้ก็จะขอข้ามไม่พูดถึงไปล่ะกัน ดังนั้นเข้าเรื่องเลย (สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ล้วนติดสปอย ดังนั้นกดปิดได้ทันทีถ้ายังไม่ได้ดู ฮ่า!) โดยภาพรวมแล้ว ซีวิวอร์ทำได้ดีเลยทีเดียวทั้งมุขตลกสไตล์จิกกัดแบบฉบับมาร์เวล รวมไปถึงความตึงเครียด ความสมเหตุสมผลของเนื้อเรื่องและตัวละคร ซึ่งในส่วนของตัวละครนั้นต้องบอกว่ามันเยอะแยะไปหมด มีรายระเอียดยิบย่อยและไม่สามารถเก็บหมดได้จากการดูรอบเดียว แต่ถ้านับตัวละครหลักๆ ก็คงมีสองทีมสองฝั่ง ได้แก่

สตีฟ โรเจอร์ หรือทีมกัปตันอเมริกา มีลูกทีมอันประกอบไปด้วย บัคกี้ บาร์นส์ (วินเทอร์ โซลเยอร์) ,ฟอลคอน (แซม วินสัน) ,สการ์เล็ต วิทช์ (แวนด้า แม็กซิมอฟฟ์) ,แอนท์แมน (สก็อตต์ เอ็ดเวิร์ด แฮร์ริส แลงค์) และ ฮอว์คอาย (คลินท์ บาร์ตัน) 
และในส่วนของ โทนี่ สตาร์ค ผู้นำทีมฝั่งไออ้อนแมน ก็ตามมาด้วย แบล็ควิโดว์ (นาตาชา โรมานอฟ) ,วิชชั่น ,วอร์แมชชีน (เจมส์ รูเพิร์ต โรดดี โรดส์) ,แบล๊คแพนเธอร์ (เจ้าชายทีชาล่า) และ สไปดี้ของเรา (ปีเตอร์ พาร์คเกอร์) ดูซิ! แค่แบ่งออกเป็นสองฝั่งตัวละครยังเยอะขนาดนี้ ตัวละครแบบยิบย่อยไม่ต้องพูดถึง จำไม่ได้ ฮ่าๆ

      หากว่ากันตามหลักเหตุและผลของตัวละคร จริงๆเราไม่สามารถที่จะชี้บอกว่าใครถูกหรือใครผิด เพราะในซีวิลวอร์ ทำให้เราเห็นปูมหลังและน้ำหนักของเหตุผลในแต่ละตัวละคร จนทำให้เกิดความเห็นใจแก่พวกเขา อย่างตัวของกัปตัน เพราะเขารักเพื่อน แม้จะต้องแหกกรอบนอกกฎหมายเขาก็จะทำ แต่ในส่วนของโทนี่แล้วนั้น พอมารู้ทีหลังว่ากัปตันมีส่วนรู้เห็นกับการตายของพ่อแม่ตัวเองก็เกิดความแค้น ซึ่งในส่วนนี้นี่เองที่ทำให้เรารู้สึกเห็นอกเห็นใจคุณโทนี่ขึ้นมา ไม่ใช่เพราะความผิดของแคป แต่เพราะตัวละครอย่างโทนี่ ที่ไม่สามารถวางอดีตร้ายๆไปจากจิตใจของเขาได้ จึงทำให้เกิดความแค้นและความโกรธแบบชั่ววูบที่ทำให้ต้องแตกหักกันไปข้าง ซึ่งตรงนี้เราดูแล้วเราเห็นใจตัวละครอย่างโทนี่จริงๆ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังเห็นด้วยกับคำพูดของโทนี่ที่ว่า ถ้าเรายังยอมรับข้อจำกัดไม่ได้ เราก็ไม่ต่างอะไรกับเหล่าวายร้าย ซึ่งจากคำพูดนี้ ผนวกกับสนธิสัญญาก็ผลักให้แคปต้องกลายเป็นผู้ร้ายไปโดยปริยาย

     ไม่ว่าจะอเวนเจอร์หรือกัปตันอเมริกาในภาคก่อนๆ เราได้ชื่นชมแคปมาตลอด และเรายอมรับเลยว่าแคปเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่มีอุดมการณ์และจิตใจสูงมาก จนกระทั่งเจ้าชายแห่งอาณาจักรวากันด้าอย่างทีชาล่าปรากฏตัวพร้อมกับคำพูดหล่อมากๆในตอนเกือบสุดท้าย ก็ทำให้เรารู้เลยว่า คนที่จิตใจสูงส่งไม่ใช่มีแค่แคปคนเดียวอีกต่อไป เพราะเจ้าชายทีชาล่า หรือแบล๊คแพนเธอร์ เขาก็ทำให้เห็นแล้วว่าเขาสามารถตัดความแค้นในจิตใจ และวางความแค้นของเขาให้มันเป็นเพียงแค่อดีต (คำพูดของเขาอยู่ด้านบนของบทความนั่นล่ะ ฮ่า!) ซึ่งในตรงนี้นี่เองที่ทำให้เราตกหลุมรักตัวละครอย่างแบล๊คแพนเธอร์เข้าแบบจังๆ

     ตัวละครที่รู้จักกันดีอีกหนึ่งตัวที่ป๊อปปูล่ามากๆคือสไปดี้ หรือสไปเดอร์แมน ต้องบอกก่อนว่าตัวละครตัวนี้เรียกเสียงฮาได้ดีจริงๆ โดยส่วนตัวคือชอบน้องทอมแสดงมาก ซึ่งถ้านับภาคก่อนๆที่เคยชมกาฟิลไป ต้องขอยกมาให้น้องทอมหมดเลย น้องเขาดูไม่วัลลาบีกับการเป็นสไปดี้ฉบับเกรียนๆ ถึงจะเป็นตัวละครที่พูดมาก(ตามสไตล์ปีเตอร์ พาร์คเกอร์นั่นล่ะ) แต่กลับรู้สึกถึงความพอดีและน่าเอ็นดู ซึ่งชอบ(มาก) และยิ่งตอนปล่อยสารพัดมุขออกมา หนูเอ๋ย สมัครเป็นแฟนคลับน้องทอมแบบไม่ต้องสงสัย (ฮ่า!) ตอนนี้ก็รอภาคเดี่ยวโฮมคัมมิ่งของน้องเขาต่อไป



     ขอสรุปไว้ตรงนี้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหนสำหรับความคิดของเราแล้วมันเหมือนมีพื้นที่สีเทาที่กั้นขวางตรงกลางระหว่างถูกและผิด เพราะหากมองย้อนกลับไปในอดีตของโทนี่ก็น่าเห็นใจ ตัวของแคปที่มีเพื่อนรักร้อยปีก็น่าเห็นใจไม่แพ้กัน ซึ่งเอาจริงๆแล้วนอกจากแคปและโทนี่ ตัวละครที่เรารู้สึกเห็นใจคือบักกี้ด้วยอีกหนึ่งคน ทั้งหมดที่พูดมา เราไม่สามารถที่จะวัดระดับความผิดชอบชั่วดีของพวกเขาได้เลย (ถ้าตัดเรื่องของความสูญเสียออกไปทั้งหมดนะ) เพราะต่างคนต่างก็มีเหตุผลและอุดมการณ์เป็นของตัวเอง ลองนึกภาพว่าตัวเองเป็นกัปตันแล้วเห็นเพื่อนรักร้อยปีของตัวเองจะต้องโดนจับโดยที่ตัวเองไม่ทำอะไร ก็คงจะต้องรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต ซึ่งในฝั่งของโทนี่ก็เช่นกัน เห็นภาพพ่อแม่ตัวเองโดนฆ่าจากเพื่อนของเพื่อนตัวเอง และเพื่อนตัวเองก็มีส่วนรู้เห็น ก็คงรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง ดังนั้น ภาพเหตุการณ์พวกนี้นี่เองที่ทำให้เราคิดว่า มันเป็นพื้นที่ที่มันไม่ชัดเจนระหว่างคำว่าถูกหรือผิด

     ในกัปตันอเมริกา: ซีวิลวอร์นี้ยังทิ้งท้ายให้เราคิดได้ว่า สิ่งจากภายนอกที่พังทลายยังสามารถแก้ไขมันได้ แต่ถ้าหากภายในมันแตกสลายก็คงยากที่จะรักษาคืน ดั่งเช่นทีมอเวนเจอร์...ในตอนนี้


(*) มี end credit อยู่ 2 ตัว อย่ารีบลุกออกจากเก้าอี้ล่ะ!


ปล. เราย้ายทีมแล้ว อยู่ทีมน้องทอม อยู่ทีมสไปเดอร์บอย เห้ย! สไปเดอร์แมน :P